Pulse Science ร่วมกันป้องกันและลดความเสี่ยงสาธารณภัย งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ

Pulse Science ร่วมกันป้องกันและลดความเสี่ยงสาธารณภัย งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ
13/03/24   |   240   |  

   เมื่อวันที่ ( 24 - 25 ก.ค. 66 ) เวลา 09.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทาง Pulse Science ได้นำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน ) Ambulance Drone รุ่น Rapid-Mert และ Mert-R “โดรนกู้ชีพฉุกเฉิน” การใช้โดรนช่วยขนส่งอุปกรณ์กู้ชีพไปยังผู้ประสบภัยได้รวดเร็วกว่ารถพยาบาล สอดคล้องกับบริบทและความเสี่ยงในพื้นที่

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ภายใต้แนวคิด "ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน" โดยมี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ร้อยโท วโรดม สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช) นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกระทรวง ผู้แทนหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

  

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง อีกทั้ง ยังทวีความรุนแรง ซับซ้อน และยากต่อการจัดการมากกว่าเดิม การจัดการสาธารณภัยจึงเป็นประเด็นท้าทายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการสาธารณภัย  ในปีนี้และ 2-3 ปีข้างหน้าก็จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปอย่างบูรณาการ เป็นระบบ มีทิศทางที่ชัดเจน และครอบคลุมทั้งวงจรการจัดการสาธารณภัยโดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้างที่สอดคล้องกับบริบทและความเสี่ยงในพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรเพื่อการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินให้ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ การฟื้นฟูอาชีพ การซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อให้เกิดการฟื้นคืนกลับที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build back better and safer) โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

  

  

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า “งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา” โดยแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 -2570 ได้กำหนดให้มีการจัดสมัชชาการจัดการสาธารณภัยเพื่อใช้เป็นเวทีระดับชาติ  ที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงค้นหาทางออกในประเด็นปัญหาที่แต่ละภาคส่วนให้ความสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเสนอแนะและจัดทำนโยบายสาธารณะในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศอย่างเป็นระบบ

 

สำหรับงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Climate Change กับการตั้งรับ-ปรับตัวในการจัดการภัยพิบัติ” โดย Mr. Marco - Toscano Rivalta, Chief of the Reginal Office for Asia and The Pacific, UNDRR ROAP และ Ms. Chinatsu Endo, Programme officer, UNDRR ROAP รวมถึงการเสวนาวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการจัดการสาธารณภัยในหลากหลายประเด็น ได้แก่ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ สู่สังคมเท่าทันภัย ปลอดภัยอย่างยั่งยืน (DRR)” “นโยบายสาธารณะกับการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในประชาชนกลุ่มเปราะบาง” “การเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือและการฟื้นฟูจากสาธารณภัยไปสู่ความยั่งยืน” "การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน” "นวัตกรรมด้านสาธารณภัยเพื่อการติดตามและแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชน"

 

 นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการจัดการสาธารณภัยจากหน่วยงานภายในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงกลาโหม สภากาชาดไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) บริษัท ดับเบิลยูเอสจี จำกัด VIGOR MERGER Co.,Ltd. Dynamic Intelligence Asia Co.,Ltd  Aero Technology Industry Co.,Ltd และ Pulse Science Co.,Ltd โดยผู้สนใจสามารถรับชมการบรรยายพิเศษและเสวนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Youtube ช่อง ‘สถานีข่าวปภ.’ ช่อง 'dpm streamming' และช่อง 'DDPMNews รู้ทันภัยกับ ปภ.

tags : #drone, #กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ddpm, #climatechange, #เอลนีโญ, #pulsescience, #pulsex